เรียนต่อ New York
นครนิวยอร์ก หรือที่นิยมเรียกกันว่า นิวยอร์กซิตี (อังกฤษ: New York City; NYC) เป็นเมืองใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา เป็นเมืองที่เจริญที่สุดในโลก เป็นมหานครเอกของโลก จัดได้ว่าเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเงิน วัฒนธรรม บันเทิง ที่สำคัญที่สุดของโลก เป็นเมืองที่มี ตึกระฟ้า ตึกสูงมากที่สุดในโลก ตลอดระยะเวลา 150 ปี และยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ อีกด้วย
นิวยอร์กตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วย 5 เขตปกครองที่เรียกว่า โบโรฮ์ (Borough) คือ เดอะบรองซ์ บรูคลิน แมนแฮตตัน ควีนส์ และสแตตัน ไอส์แลนด์ ประชากรรวมทั้งหมดประมาณ 8,274,527 คน ภายในพื้นที่ 790 ตร.กม. (305 ตร.ไมล์) นอกจากจะเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดแล้ว สัดส่วนประชากรต่อพื้นที่ยังถือว่าหนาแน่นที่สุดในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
ลักษณะเฉพาะของนิวยอร์กที่แตกต่างไปจากเมืองแห่งอื่นของสหรัฐอเมริกา มีให้เห็นหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่ระบบขนส่งที่มีโครงข่ายขนาดใหญ่ ความเหมือนและความแตกต่างกันของประชากร ใน ค.ศ. 2005 มีภาษาประมาณ 170 ภาษาที่ใช้กันในเมืองแห่งนี้ และ 36% ของประชากรไม่ได้เกิดและโตในสหรัฐอเมริกา ระบบรถไฟใต้ดินนครนิวยอร์กที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง บวกกับการจราจรและผู้คนที่พลุกพล่านอยู่ตลอดเวลา จึงมีคำเปรียบเปรยถึงนิวยอร์กว่าเป็น “เมืองที่ไม่เคยหลับใหล” ขณะเดียวกันเมืองแห่งนี้ยังมีชื่อเล่นอื่นๆ อีกด้วยอย่าง “กอร์ทเทม” (Gotham) และ “บิ๊กแอปเปิล” (Big Apple)
ชาวดัชต์ถือเป็นผู้คนกลุ่มแรกที่เข้ามาเริ่มปักหลักทำการค้าใน ค.ศ. 1624 ซึ่งนั้นได้ทำให้เมืองแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ ค.ศ. 1785 จนกระทั่ง ค.ศ. 1790 และเคยเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกตั้งแต่ ค.ศ. 1790 เทพีเสรีภาพ (Statue of Liberty) ได้ให้การตอนรับผู้มาเยือนหลายล้านคน ที่เดินทางมายังสหรัฐอเมริกา ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 20 วอลล์สตรีท (Wall Street) ที่ตั้งอยู่ในแมนแฮตตันตอนใต้ ก็ถือเป็นศูนย์กลางที่มีอิทธิพลต่อระบบการเงินของโลกมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE: New York Stock Exchange) ในปัจจุบัน นิวยอร์กมีสถานที่สำคัญที่มีชื่อเสียงและเป็นสัญลักษณ์ของโลกหลายแห่ง รวมทั้งตึกที่เคยสูงที่สุดในโลกอย่างตึกเอ็มไพร์สเตท (Empire State Building) อีกด้วย
นิวยอร์กยังเป็นบ้านเกิดของวัฒนธรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานวรรณกรรมและทัศนศิลป์ที่เรียกว่า ฮาเล็ม เรอเนสซองค์ (Harlem Renaissance) งานภาพเขียนที่เรียกว่าศิลปะกึ่งนามธรรม (Abstract Expressionism) หรือที่รู้จักกันว่า “นิวยอร์กสคูล” วัฒนธรรมทางดนตรีอย่าง ฮิปฮอป พังค์[ ซัลซ่า และดิสโก้ รวมทั้งยังเป็นบ้านเกิดของละครบรอดเวย์อีกด้วย
เขตการปกครอง
นิวยอร์กประกอบด้วย 5 โบโรฮ์ (Borough) โดยในแต่ละโบโรฮ์ก็จะและแบ่งแยกย่อยออกเป็นอีกหลายเขตชุมชนย่อย (Neighborhoods) โดยที่โบโรฮ์จะขึ้นอยู่กับเทศมณฑล หรือ เคาน์ตี้ (County) โดยเป็นเขตการปกครองของรัฐนิวยอร์ก ศูนย์กลางของมหานครนิวยอร์กคือ แมนแฮตตัน ซึ่งเป็นศูนย์กลางความเจริญของทั้งเมือง และถูกล้อมรอบด้วยโบโรฮ์อื่น
- เดอะบรองซ์ (เคาน์ตี้ บรองซ์ : ประชากร 1,363,198 คน) โบโรฮ์ที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของมหานครนิวยอร์ก เป็นที่ตั้งของสนามแยงกี้ สเตเดียม ถิ่นของทีมเบสบอล นิวยอร์ก แยงกี้ ขณะที่สวนสัตว์ในเขตเมืองที่ใหญที่สุดให้สหรัฐอเมริกา อย่าง สวนสัตว์บรองซ์ ก็อยู่ในโบโรฮ์นี้ เดอะบรองซ์ เป็นส่วนเดียวของมหานครนิวยอร์กที่ไม่ได้เป็นเกาะ (เป็นส่วนที่อยู่ติดกับแผ่นดินสหรัฐอเมริกา) และที่นี้ก็ยังเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมดนตรี แร็พ และ ฮิปฮอป ด้วย
- บรูคลิน (เคาน์ตี้ คิงส์ : ประชากร 2,528,050 คน) เป็นโบโรห์ที่มีประชากรมากที่สุด มีทั้งเขตเขตธุรกิจและเขตที่อยู่อาศัย (นอกจากแมนแฮตตันแล้ว บรูคลินเป็นโบโรห์เดียวที่มีการแบ่งย่านดาวน์ทาวน์ที่ชัดเจน และเป็นเขตธุรกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเมืองนิวยอร์ก) ในอดีตบรูคลินมีสถานะเป็นเมืองอิสระไม่ขึ้นอยู่กับการดูแลของเมืองใด จนกระทั่ง ค.ศ. 1898 ได้ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมหานครนิวยอร์ก บรูคลินเป็นที่รู้จักทางด้านความหลายหลายทางด้านผู้คน สังคม วัฒนธรรม รวมถึงเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องกับศิลปะ และเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมยุคเก่าที่ตกทอดมาแต่อดีต โบโรห์นี้ยังมีสถานที่ที่โดดเด่น คือ ชายหาดที่ทอดตัวเป็นแนวยาว และโคนีย์ ไอส์แลนด์ (Coney Island) ที่สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1870 เป็นหนึ่งในสถานที่พักผ่อนที่น่าสนใจของประเทศนี้
- แมนแฮตตัน มีลักษณะเป็นเกาะ ตั้งอยู่ในเคาน์ตีนิวยอร์ก มีประชากร 1,564,798 คน เป็นศูนย์กลางความเจริญในทุกด้าน มีตึกระฟ้าจำนวนมาก เซ็นทรัลพาร์ก พิพิธภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวตั้งอยู่ แมนแฮตตันเป็นบริเวณที่มีประชากรหนาแน่นที่สุด และค่าครองชีพสูงสุดในสหรัฐอเมริกา ในแมนแฮตตันจะมีแบ่งย่อยออกเป็นเขตชุมชนย่อยอีกหลายเขต เช่น ดาวน์ทาวน์ มิดทาวน์ อัพทาวน์ เฮลคิทเชน โซโห ฮาเล็ม ไชน่าทาวน์ ลิตเติลอิตาลี ไทบีกา เชลซี
- ควีนส์ ตั้งอยู่ในเคาน์ตีควีนมีประชากร 2,225,486 คน เป็นเขตที่มีประชากรหลากหลายเชื้อชาติมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา มีพื้นที่มากที่สุดในบรรดา 5 เขต
- สแตตัน ไอส์แลนด์ ตั้งอยู่ในเคาน์ตีริชมอนด์ มีประชากร 459,737 คน เป็นเกาะที่อยู่แยกออกไปแตกต่างจากเขตอื่น
สวนสาธารณะ
นิวยอร์กมีพื้นที่กว่า 113 กม² (28,000 เอเคอร์) ที่มีบริเวณเป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่มีต้นไม้ขึ้นเป็นกลุ่มๆ และชายหาดความยาวถึง 22 กิโลเมตร (14 ไมล์) พื้นที่หลายหมื่นเอเคอร์ดังกล่าวเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวนิวยอร์ก และยังเป็นส่วนหนึ่งของระบบอุทยานแห่งชาติด้วย สำหรับสวนสาธารณะนั้น นิวยอร์กมีสวนสาธารณะกว่า 1,700 แห่ง ทั้งเล็กใหญ่กระจายไปในตัวเมือง ซึ่งที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีก็ คือ เซ็นทรัลพาร์ก ในแมนแฮตตัน สวนแห่งนี้ถูกออกแบบโดย Frederick Law Olmsted และ Calvert Vaux มีผู้เข้าเยี่ยมชมกว่า 30 ล้านคนต่อปี ถือเป็นสวนสาธารณะที่มีผู้คนเข้าเยี่ยมชมมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา (อันดับที่ 2 คือ ลินคอล์นพาร์ก ในชิคาโก) นอกจากนั้น Olmsted และ Vaux ยังเป็นผู้ออกแบบ โพรสเปคพาร์ก ในบรูคลินอีกด้วย ขณะที่ฟลัชชิ่ง เมลโด โคโรน่าพาร์ก ที่ควีนส์ ก็เคยถูกใช้ในการจัดงานเวิลด์แฟร์ ใน ค.ศ. 1939 และ ค.ศ. 1964 มาแล้ว
การคมนาคม
ระบบขนส่งสาธารณะของเมืองถือว่ามีความสำคัญอย่างมากกับการเดินทางของชาวนิวยอร์ก โดยคิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้ใช้ระบบขนส่งในสหรัฐอเมริกา และ 2 ใน 3 ของผู้ใช้การขนส่งระบบรางอาศัยอยู่ในนิวยอร์กและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งนั้นตรงกันข้ามกับวิถีของคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ที่ 90% ใช้รถยนต์ส่วนตัวไปทำงาน นิวยอร์กเป็นเพียงเมืองเดียวในสหรัฐอเมริกาที่ประชากรในท้องถิ่นกว่าครึ่งไม่มีรถยนต์ส่วนตัว (โดยเฉพาะในแมนแฮตตัน กว่า 75% ของผู้พักอาศัยไม่มีรถยนต์ส่วนตัว หรือคิดเป็น 8% ของคนทั้งสหรัฐอเมริกา) และรายงานของสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐอเมริกา (US Census Bureau) พบว่าผู้พักอาศัยในนิวยอร์กจะใช้เวลาเฉลี่ยกับการเดินทางไปทำงานประมาณ 38.4 นาที ต่อวัน ซึ่งนั้นถือเป็นเวลาที่ใช้ในการเดินทางนานที่สุดในกลุ่มเมืองขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกา
ระบบรถโดยสารประจำทาง และระบบรถไฟในนิวยอร์กนั้นจะเป็นส่วนเดียวกัน ตั๋วรถไฟและตั๋วรถประจำทางสามารถใช้ร่วมกันได้ โครงข่ายระบบรางจะเชื่อมกับพื้นที่ชานเมืองของรัฐที่อยู่ใกล้เคียง 3 รัฐ (Tri-state Region) ประกอบไปด้วยพื้นที่ทางตอนใต้ของรัฐนิวยอร์ก (รวมโบโรห์ทั้ง 5 ของเมืองนิวยอร์กด้วย) พื้นที่ตอนเหนือของรัฐนิวเจอร์ซีย์ และพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐคอนเนตทิคัต โดยมีสถานีมากกว่า 250 แห่ง ใน 20 เส้นทาง สถานีหลักคือแกรนด์เซ็นทรัลเทอร์มินัล และสถานีเพนซิลเวเนีย โดยรถไฟจะวิ่งในแนวเหนือใต้ ขณะที่รถโดยสารประจำทางส่วนใหญ่จะวิ่งในแนวตะวันออกตะวันตก
นิวยอร์กยังติดอันดับเมืองที่มีการขนส่งทางอากาศมากที่สุด ผู้มาเยือนส่วนใหญ่จะใช้นิวยอร์กเป็นประตูเข้าสู่สหรัฐอเมริกา ในพื้นที่ของเมืองมีท่าอากาศยานที่สำคัญอยู่ถึง 3 แห่ง คือ ท่าอากาศยานนานาชาติจอห์น เอฟ. เคนเนดี (JFK) ท่าอากาศยานนานาชาตินูอาร์ก ลิเบอร์ตี (EWR) และท่าอากาศยานลากวาเดีย (LGA) นอกนั้นยังมีแผนที่จะสร้างท่าอากาศยานแห่งที่ 4 คือ ท่าอากาศยานนานาชาติสจ๊วต (SWF) ใกล้กับเมืองนิวเบิร์ก รัฐนิวยอร์ก ภายใต้ความรับผิดชอบของการท่าแห่งนิวยอร์กและนิวเจอร์ซีย์ (Port Authority of New York and New Jersey) เพื่อที่จะรองรับกับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ใน ค.ศ. 2005 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 100 ล้านคน ที่ใช้ท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่งในการเดินทาง การจราจรทางอากาศในนิวยอร์กถือว่ามีความหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา
การเดินทางด้วยจักรยานก็ยังมีให้เห็นในนิวยอร์ก มีผู้ใช้จักรยานประมาณ 120,000 คนต่อวัน และยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่อาศัยการเดินเท้า การเดินและการใช้จักรยานในการเดินทางมีอัตราอยู่ประมาณ 21% จากแต่ละวิธีในการเดินทางในเมือง
อีกองค์ประกอบของระบบคมนาคมขนส่งในนิวยอร์ก ก็คือ ทางด่วน (Expressways) และทางธรรมดา (Parkways) ที่มีโครงข่ายที่ครอบคลุม เชื่อมต่อนิวยอร์กไปยังตอนเหนือของรัฐนิวเจอร์ซีย์ เวสต์เชสเตอร์ เคาน์ตี้ ลองไอแลนด์ และตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐคอนเนตทิคัต โดยผ่านทั้งสะพาน และอุโมงค์ใต้น้ำ (ค่าผ่านทางประมาณ $7-$15 ต่อรอบ) เส้นทางดังกล่าวได้ให้ความสะดวกกับการเดินทางสู่นิวยอร์กสำหรับผู้ที่พักอาศัยอยู่ในแถบชานเมือง แต่ในบางครั้งก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาการจราจรติดขัด โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน สะพานจอร์จ วอชิงตัน หนึ่งในเส้นทางเชื่อมต่อ ก็เป็นสะพานแห่งหนึ่งของโลกที่มีการจราจรที่คับคั่งที่สุด